อาการปวดต้นคอ
ปวดต้นคอ
(Neck Pain) เป็นอาการปวดกล้ามเนื้อคอที่หลายคนเป็นได้บ่อย
ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีสาเหตุที่ร้ายแรง
และสามารถทุเลาลงภายในไม่กี่วัน
แต่อาการปวดต้นคอที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง
อย่างการได้รับบาดเจ็บหรือป่วยเป็นโรคที่ต้องรับการรักษาจากแพทย์
หากเกิดอาการปวดต้นคออยู่เรื่อย ๆ ติดต่อกันนานมากกว่าหนึ่งสัปดาห์
หรือเกิดอาการชา มือและแขนอ่อนแรง หรือเจ็บแปลบที่ไหล่หรือแขน
ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษา
อาการปวดต้นคอ
ผู้ที่เกิดอาการปวดต้นคอนั้น
มักปรากฏลักษณะของอาการดังต่อไปนี้
1. รู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อต้องหันคอไปด้านใดด้านหนึ่งเป็นเวลานาน
เช่น ขับรถหรือนั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ
2. กล้ามเนื้อตึงหรือกระตุก
3. หันศีรษะหรือคอไม่ค่อยได้
นอกจากนี้
ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่
1. ชา
2. เสียวแปลบ
3. กลืนอาหารลำบาก
4. ได้ยินเสียงคล้ายหวดไม้อยู่ในหัว
5. ปวดศีรษะและวิงเวียนศีรษะ
6. ต่อมน้ำเหลืองบวม
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดหัว เจ็บใบหน้า ปวดไหล่
แขนชาและรู้เสียวแปลบ
ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นอาการที่เกิดจากเส้นประสาทคอถูกกดทับ
และบางรายก็อาจเกิดอาการปวดหลังช่วงบนหรือหลังช่วงล่างด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากกระดูกสันหลังอักเสบด้วยโรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด
(Ankylosing Spondylitis)
สาเหตุของการปวดต้นคอ
คอมีความยืดหยุ่นและทำหน้าที่รับน้ำหนักศีรษะ จัดเป็นอวัยวะที่เปราะบาง
ได้รับบาดเจ็บและเกิดอาการปวดหรือแข็งเกร็งได้ง่าย โดยสาเหตุที่ทำให้ปวดต้นคอ
แบ่งได้ดังนี้
1.กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
เป็นอาการปวดต้นคอที่พบได้บ่อยที่สุด
เกิดจากกล้ามเนื้อแข็งเกร็งนั้นมาจากกิจกรรมหรือพฤติกรรมในการใช้งานกล้ามเนื้อคอที่ผิดท่าและนานเกินไป
ได้แก่
1.1 จัดวางระเบียบท่าทางไม่ถูกต้อง
1.2 นั่งทำงานนานเกินไปโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ
1.3 นอนหลับแล้วหันคอผิดท่า
1.4 คอกระตุกระหว่างออกกำลังกาย
1.5 ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน
การได้รับบาดเจ็บที่คอ
คอถือเป็นอวัยวะเปราะบาง เสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้ง่าย
โดยอาการบาดเจ็บที่คอเกี่ยวเนื่องกับการที่ศีรษะถูกกระชากทันที
มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับการกระทบกระเทือนโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น รถชน เป็นต้น
ภาวะดังกล่าวทำให้ข้อต่อหรือเอ็นของคอได้รับความเสียหาย
นอกจากอาการปวดต้นคอและคอแข็งแล้ว การได้รับบาดเจ็บที่คอยังทำให้กล้ามเนื้อคอตึง
เคลื่อนไหวคอได้น้อยลงและจะเจ็บเมื่อต้องหันคอ รวมทั้งปวดหัวด้วย
ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative Disc Disease) มักเป็นสาเหตุอาการปวดต้นคอในผู้สูงอายุ
บางครั้งก็เรียกภาวะนี้ว่า โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical Spondylosis) มักไม่ปรากฏอาการ
หากกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมอยู่ใกล้เส้นประสาทจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บลามไปตั้งแต่แขน
เป็นเหน็บ และชาที่มือและขา ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีส่วนใหญ่จะเกิดกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมโดยอาจไม่มีอาการปวดต้นคอ
เส้นประสาทถูกกด
(Pinched Nerve) อาการปวดต้นคอที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดนั้นมีสาเหตุมาจากโรครากประสาทคอ
(Cervical Radiculopathy)
โดยส่วนใดส่วนหนึ่งของกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างข้อกระดูกสันหลังนั้นแยกออกและมีเจลข้างในกระดูกนูนออกมาข้างนอกใกล้กับเส้นประสาท
พบในผู้สูงอายุได้บ่อยกว่า
เนื่องจากกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมและสูญเสียมวลน้ำเมื่ออายุมากขึ้น
ทำให้กระดูกขาดความยืดหยุ่นและเสี่ยงต่อการกระดูกแยกได้ง่าย นอกจากปวดต้นคอแล้ว
อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกชา เกิดอาการเหน็บชา แขนบางส่วนเจ็บและอ่อนแรง
ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้
แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยบางราย
การติดเชื้อ
อาการติดเชื้อที่พบได้ทั่วไปอย่างการติดเชื้อไวรัสในคอ จะทำให้ท่อน้ำเหลืองบวม
นำไปสู่อาการปวดคอได้ นอกจากนี้ อาการปวดต้นคอยังมาจากการติดเชื้อที่พบได้ไม่บ่อย
เช่น วัณโรค กระดูกอักเสบและหมอนกระดูกสันหลังอักเสบ
(ทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
(เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหัวและเป็นไข้ร่วมกับอาการคอแข็ง)
ภาวะที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอ
อาการปวดต้นคอสามารถเกิดจากภาวะอื่นที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอโดยตรง เช่น
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia) หรือภาวะปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง
(Polymyalgia Rheumatica:
PMR)
การรักษาอาการปวดต้นคอ
วิธีรักษาอาการปวดต้นคอขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ
ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดต้นคอจากกล้ามเนื้อที่มีอาการไม่รุนแรงนั้น
มักดูแลให้ดีขึ้นได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์
แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
1 การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
ซึ่งประกอบด้วย
* ยาพาราเซตามอล ผู้ใหญ่ควรรับประทานตัวยาขนาด
500 มิลลิกรัม จำนวน 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง
* ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยานี้อาจดีขึ้นเมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอล
โดยสามารถรับประทานเฉพาะยาแก้ปวดลดการอักเสบอย่างเดียวหรือกินควบคู่กับยาพาราเซตามอลก็ได้
หากมีประวัติป่วยเป็นโรคกระเพาะ โรคหอบ ความดันโลหิตสูง ไตทำงานไม่ดี
หรือหัวใจล้มเหลว อาจใช้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้หรือต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด
* ยาแก้ปวดชนิดแรง
หากยาแก้ปวดลดการอักเสบไม่ทำให้อาการดีขึ้น
ผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดชนิดแรงอย่างยาโคเดอีน (Codeine) แทน
โดยยานี้ก่อให้เกิดอาการท้องผูกซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
2 การบำบัด
การรักษาอาการปวดต้นคอด้วยวิธีบำบัดมีหลายวิธี ดังนี้
* กายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะสอนให้ผู้ป่วยจัดระเบียบท่าทางให้ถูกต้อง
รวมทั้งสอนการออกกำลังกายที่เสริมความแข็งแรงและช่วยจัดแนวของคอ และใช้วิธีกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยความร้อน
ความเย็น หรือไฟฟ้า เพื่อช่วยลดอาการปวดต้นคอและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ
* การระงับปวดด้วยกระแสไฟฟ้า (Transcutaneous Electrical Nerve
Stimulation: TENS) แพทย์จะวางขั้วไฟฟ้าไว้ตรงผิวหนังใกล้บริเวณที่เกิดอาการปวด
โดยขั้วไฟฟ้าจะส่งกระแสไฟฟ้าออกมาเพื่อบรรเทาอาการปวดต้นคอ
* กายภาพบำบัดด้วยการดึงคอ การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัด
วิธีนี้อาจช่วยให้อาการปวดต้นคอบรรเทาลงบ้าง โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับรากประสาท
* การใส่เฝือกชั่วคราว
เฝือกอ่อนจะช่วยพยุงคอผู้ป่วย อาจช่วยให้อาหารปวดทุเลาลง
โดยเฝือกจะช่วยลดแรงกดในการพยุงคอ อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใส่เฝือกควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
3 ศัลยกรรมและกระบวนการอื่น ๆ
นอกจากการรักษาด้วยยาและการบำบัดต่างๆ แล้ว
ผู้ที่มีอาการปวดต้นคอสามารถรับการรักษาด้วยวิธีศัลยกรรมและกระบวนการอื่น ๆ ดังนี้
* การฉีดสเตียรอยด์ แพทย์อาจฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid Medications) ตรงบริเวณที่ใกล้รากประสาท
เข้าไปยังข้อฟาเซ็ท (Facet
Joints) ซึ่งอยู่ตรงกระดูกสันหลัง
หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อคอเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด นอกจากนี้
แพทย์อาจฉีดยาชาเพื่อช่วยลดอาการปวดต้นคอให้ผู้ป่วยด้วย
* การผ่าตัด
แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการรากประสาทหรือไขสันหลังถูกกดทับ
โดยวิธีรักษานี้ไม่ได้รักษาผู้ที่มีอาการปวดต้นคอบ่อยนัก จะใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น